ประชาสัมพันธ์

Democracy ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย

1. นโยบายด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย ( Democracy)  

เป็นการส่งเสริมให้เด็กเชื่อมั่นศรัทธาในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต่อต้านและรังเกียจการทุจริต และซื้อสิทธิ ขายเสียง

กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย

          1) กิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและชุมชน เช่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรม อบต.น้อย/ เทศบาลน้อย จัดให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้

          2) การดำเนินงานสภานักเรียนนักศึกษา กรรมการนักเรียนนักศึกษา

          3) การจัดค่ายประชาธิปไตย/ กิจกรรมประชาธิปไตยลงสู่ชุมชน

          4) การส่งเสริมกิจกรรมสร้างสำนึกความรักชาติ

          5) นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา

ประชาธิปไตย คือ “การปกครอง โดยประชาชน เพื่อประชนขน” ( อับราฮัม ลินคอล์น )

ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองและวิธีการดำเนินชีวิต ซึ่งยึดหลักของความเสมอภาค เสรีภาพและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ การปกครองระบอบประชาธิปไตยถือว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน และอำนาจอธิปไตยต้องมาจากปวงชน

ความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Democracy ซึ่งมาจากคำภาษากรีกว่า Democratia ซึ่งประกอบด้วยคำ 2คำ คือ Demos กับ kratein คำว่า Demos หมายถึง ประชาชน และ Kratein หมายถึง การปกครอง ฉะนั้นประชาธิปไตย (Demoskratia) จึงหมายถึง ประชาชนปกครอง หรือการปกครองโดยประชาชน

…ครู  กับ การส่งเสริม” ประชาธิปไตย…

“ ครู ” กับ “ ระบบประชาธิปไตย ” เมื่อมองอย่างผิวเผินแล้ว อาจดูเหมือนเป็น “ เรื่องคนละเรื่อง ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ ครู ” ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการปลูกฝัง สร้างความเข้าใจ ส่งเสริม หรือแม้แต่พัฒนาระบบประชาธิปไตย ถ้า “ ครู ” ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ก็คงไม่กล้าหวังที่จะเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทย . .. (รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ )

เราเข้าใจระบอบประชาธิปไตยตรงกันไหม?

ดร.โสภณ พรโชคชัย {1}

ใคร ๆ ก็ชอบระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่รู้ว่าเราเข้าใจตรงกันไหมนิยามของประชาธิปไตยที่ทุกคนเคยได้ยินเหมือนกัน แต่อาจตีความต่างกันก็คือ “ระบอบการปกครองซึ่งอำนาจมาจากเสียงข้างมาก” นี่แสดงว่าเสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง คือสัจธรรม หรือสัจธรรมยืนอยู่ข้างคนส่วนใหญ่บิดเบือนประชาธิปไตย

แต่ทุกวันนี้มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการบิดเบือนสัจธรรมนี้ เช่น

1. มีการสร้างวาทกรรมกรอกหูกันว่า สังคมไทยเสื่อมทรามลงทุกวัน {2} ราวกับว่าคนส่วนใหญ่เป็นคนเลวที่จะพากันลงเหว เพื่อไม่ให้เชื่อมั่นในเสียงส่วนใหญ่ ไม่ถือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง‘ ขณะเดียวกันก็อุปโลกน์ “คนดี” ที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง หรือผ่านเฉพาะการสรรหาแบบปาตี้ลิสมาเป็นผู้ปกครอง นี่เป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตยโดยตรง

2. มีความพยายามในการลดทอนความน่าเชื่อถือ (discredit) ระบอบประชาธิปไตยด้วยการโพนทะนาว่า คนส่วนใหญ่อาจบีฑาหรือเข่นฆ่าคนส่วนน้อย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นในสังคมโจร แต่โจรก็ยังเป็นคนส่วนน้อยในสังคมอยู่ดี ในสังคมประชาธิปไตย คนส่วนน้อยต้องยอมรับและปฏิบัติตามมติของคนส่วนใหญ่แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม {3} การสร้างความหวาดระแวงแก่คนส่วนน้อยก็เพื่อบ่อนทำลายประชาธิปไตยนั่นเอง

3. การอ้างผู้รู้ส่วนน้อย เช่น คนส่วนใหญ่คงไม่รู้วิธีสร้างจรวดไปดวงจันทร์ ข้อนี้จริงในเชิงเทคนิควิทยากร แต่ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เสียงส่วนใหญ่ย่อมถูกต้อง อย่างกรณีราคาซื้อขายสินค้า จะมีระนาบราคาตลาด (Zone of Market Prices) ที่คนส่วนใหญ่ซื้อขายกัน ซึ่งถือเป็นดัชนี “หั่งเช้ง” (หั่งเส็งแต่บางครั้งอาจมีการซื้อขายที่ ตามราคา “บอกผ่าน” หรือ “ผิดราคา” (Outliers) อยู่บ้าง เพราะผู้ซื้อจำเป็นต้องซื้อหรือซื้อเพราะความไม่รู้ เป็นต้น

4. การอ้างความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว อันเกิดจากผลงานของคนที่บ่อนทำลายประชาธิปไตยเอง เพื่อกีดขวางการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน เช่น การอ้างอิงถึงนักการเมืองน้ำเน่า หรือการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของข้าราชการประจำ ดังนั้นเครื่องมือใหม่ ๆ ของระบอบประชาธิปไตย เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การเวนคืนที่เป็นธรรม จึงถูกป้ายสีให้เป็นภาพลบและถูกกีดขวางมาโดยตลอด {4}

5. การอ้างข้อยกเว้นต่าง ๆ เช่น อ้างเผด็จการฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้งยังเป็นเผด็จการไปได้ แต่ในความเป็นจริง ฮิตเลอร์ไม่เคยชนะเสียงข้างมาก มาร่วมเป็นรัฐบาลผสม และยึดอำนาจการปกครองในที่สุด ที่สำคัญฮิตเลอร์เคยก่อการรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้นเสียงส่วนใหญ่จึงไมได้หลงผิดเลือกฮิตเลอร์แต่แรก หรือบางท่านอ้างกษัตริย์ในสมัยโบราณที่เป็นผู้นำสูงสุดโดยไม่ต้องมีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระในยุคสังคมทาสโบราณ หรือสังคมศักดินาในอดีต ยิ่งกว่านั้นบางท่านยังอ้างว่าประเทศสังคมนิยมเป็นเผด็จการ เพราะเขาเรียกตัวเองว่า เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ” แต่ตามแนวคิดสังคมนิยมนั้นเขาถือเป็นประชาธิปไตยเพราะกรรมาชีพคือคนส่วนใหญ่นั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่าการบิดเบือนประชาธิปไตยก็เพื่อไม่ให้ความสำคัญกับคนส่วนใหญ่ แต่มุ่งสถาปนาระบอบผู้นำเดี่ยวหรือคณาธิปไตย เป็นต้น

……กาฝากประชาธิปไตย……

ประเทศไทยยังมีกาฝากประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยแบบจอมปลอม ที่บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย มีอยู่ 2 ประการสำคัญในขณะนี้ ก็คือ

                1. การฟังเสียงประชาชนในระบบ ประชาพิจารณ์‘ {5} ที่ดำเนินการกันมานั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพียง “ปาตี้ลิส”‘ เท่านั้น ในแง่หนึ่ง ก็เป็นการทำตามแบบพิธีการ และในอีกด้านหนึ่งการถามความเห็นของประชาชนเฉพาะที่ได้รับผลกระทบนั้นเป็นสิ่งที่ดี จะได้หาทางเยียวยา แต่จะถือเอาเป็นที่ตั้งถ่ายเดียวไม่ได้ เพราะอย่างไรเสีย คนที่เสียผลประโยชน์ย่อมไม่เห็นดีเห็นงามกับโครงการของรัฐอยู่แล้ว จะสังเกตได้ว่า การทำประชาพิจารณ์ในประเทศไทยนั้น เน้นการถามความเห็นของผู้เสียผลประโยชน์มากกว่าสังคมโดยรวม ดังนั้นจึงมักได้คำตอบเพียงด้านเดียว และในบางกรณีผู้เสียประโยชน์ก็ไม่เคารพมติเสียงส่วนใหญ่ ใช้กฎหมู่เสียอีก

                2. ระบบสรรหา ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการสร้างระบอบคณาธิปไตย ระบบสรรหาทำให้เกิดการระดม “นอมินี” ที่อุปโลกน์กันขึ้นมาเลือกสรรกันเอง พวกนี้กลายเป็น “อภิชน” นักสรรหามืออาชีพ หรือผู้นำ กำมะลอ‘ ที่ชอบสิงสถิตใน องค์กรอิสระ‘ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผู้นำชุมชนที่มีอาชีพเป็น ผู้นำชุมชน‘ และเกาะอยู่ตาม องค์กรอิสระ‘ ต่าง ๆ บ้างก็อ้างความจนหรืออ้างเป็นตัวแทนคนจน แต่คนเหล่านี้มักไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ ในทุกวันนี้ ยังมีการฟ้องร้องกันในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ {6} เป็นต้น

                ระบบประชาพิจารณ์ (จอมปลอม) ก็ดี และระบบสรรหาในองค์กรต่าง ๆ ก็ดี โดยเฉพาะสภาองค์กรชุมชน {7} นั้น ดูเหมือนเป็นการส่งเสริมอนาธิปไตยมากกว่าการส่งเสริมประชาธิปไตย

……. แนวทางการส่งเสริมประชาธิปไตย ……

แล้วเราจะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่แท้ ได้อย่างไร

                1. การสร้างบรรยากาศการถกเถียง เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เราต้องฟังเสียงของประชาชนเพื่อตรวจสอบว่ารัฐกิจใด ๆ ต้องตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ อิสระในการถกเถียง และในขณะเดียวกันเสียงส่วนน้อยก็จะได้มีโอกาสแสดงออกด้วย ประเทศไทยจึงควรมีรายการขนาดยาวสัก 2-3 ชั่วโมงที่แต่ละวันจะถกเถียงในประเด็นแหลมคมต่าง ๆ ให้เวลาฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้านเท่า ๆ กัน สลับกันถกเถียง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเอง ไม่ใช่ปล่อยให้มีการโฆษณาชวนเชื่อเพียงฝ่ายเดียว การนี้ยังจะสร้าง สังคมอุดมปัญญา‘ ขึ้นได้อย่างแท้จริงอีกด้วย

                2. การจัดการเลือกตั้งโดยตรงในทุกระดับ คือสิ่งที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ผู้ที่คัดค้านระบอบประชาธิปไตย มักจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อกันไม่ให้มีการเลือกตั้งโดยตรง หรือไม่ให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง การเลือกตั้งควรทำทั้งในระดับชาติ ระดับองค์กรอิสระ ระดับท้องถิ่น ระดับองค์กรการค้า ระดับองค์กรวิชาชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้เสียงส่วนใหญ่ได้รับการเคารพ และเสียงส่วนน้อยได้รับการฟัง ให้โอกาสประชาชนได้เรียนรู้ ได้ตัดสินใจ อันเป็นการรดน้ำพรวนดินระบอบประชาธิปไตยให้ฝังรากลึก

                3. นอกจากการเลือกตั้งแล้ว เรายังต้องให้ประชาชน “จ่าย” เพื่อทำนุบำรุงระบอบประชาธิปไตย โดยเน้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เฉพาะท้องถิ่นเป็นหลัก ทุกวันนี้ท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่เจริญเพราะขาดงบประมาณในการพัฒนา แต่ละท้องถิ่นก็รอแต่งบประมาณจากส่วนกลาง แต่ถ้าทุกคนที่มีทรัพย์สินในท้องถิ่น จ่ายภาษี เงินจำนวนนี้ก็จะมาใช้ได้อย่างตรงความต้องการและทันการ ประชาชนจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ใครจะมาโกงเช่นแต่เดิมก็คงไม่ได้อีก คนดี ๆ ก็จะเข้ามาช่วยงานท้องถิ่นมากขึ้น ประชาธิปไตยก็จะได้รับการพัฒนาในขั้นรากฐานเลยทีเดียว

                4. การสร้างระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหาการเกิด “ทรราช” ในวงการเมือง ยุคสมัยใหม่นี้ การปกครองถือตามเสียงคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ให้ใครมาเป็นใหญ่คนเดียวหรือคณะเดียว ดังนั้นระบบตรวจสอบที่มีคุณภาพ และมีบทลงโทษที่ชัดเจน ย่อมจะเป็นประโยชน์ เพื่อให้ทั้งประชาชน ข้าราชการประจำและนักการเมืองเคารพในนิติรัฐ

                นี่คือสาระของระบอบประชาธิปไตยที่วิญญูชนรู้กันอยู่แล้วในทางสากล เราเข้าใจระบอบประชาธิปไตยตรงกันไหมเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเดียวกันไหมอยู่ที่ตัวคุณเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://sites.google.com

เอกสารแผ่นพับประชาสัมพันธ์